เมล่อนญี่ปุ่น นั้นมีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศในแถบทวีปแอฟริกา เป็นพืชที่กำลังนิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน มีรสชาติดี หวานหอม เนื้อนุ่ม และยังปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เมล่อนญี่ปุ่นยังมีหลากหลายสี ทั้งขาว ครีม เหลือง เขียว และส้ม ซึ่งชวนให้น่ารับประทาน ลักษณะของการนำไปบริโภคนั้นมีหลากหลาย จะนำไปกินคู่กับผักสลัด หรือนำไปปั่นดื่ม ทำเป็นไอศกรีมเมล่อนก็อร่อยมากๆ
ผลตอบแทนที่ได้จากการปลูกเมล่อนนั้นสูงมาก ใช้พื้นที่การปลูกไม่มาก และยังใช้น้ำน้อย ปลูกได้ทุกฤดูกาล และทุกพื้นที่ในประเทศไทย เมล่อนญี่ปุ่นนั้นมีอยู่ 3 สายพันธุ์หลักๆคือ คิโมจิ คูนามิ โมมิจิ ซึ่งจะขายกันในราคาตั้งแต่ 150-200 บาท ต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับที่ตั้ง ความเป็นที่นิยมและกลุ่มลูกค้าของแต่ละฟาร์มนั้นเอง ดังนั้นเมล่อนญี่ปุ่น จึงจัดเป็นพืชที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างดีในเวลาอันสั้น กล่าวคือใช้เวลานับตั้งแต่ยอดเมล็ดถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงแค่ 90 วัน แต่อย่างไรก็ตามการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นนั้นต้องอาศัยความเข้าใจและการดูแลอย่างใกล้ชิด
การปลูกเมล่อนญี่ปุ่น
ดินควรใช้เป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดีเพราะจะทำให้เกิดโรคในดินได้น้อย หรือปลูกในวัสดุปลูกแบบซับสเตรตคัลเจอร์ (substrate Culture) เป็นอีกแนวทางการปลูกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการปลูกเมล่อนในประเทศไทย เพราะสามารถควบคุมการให้สารอาหาร และปริมาณน้ำ คุณสมบัติของวัสดุปลูกได้อย่างแม่นยำ
การเพาะเมล็ด
ให้แช่เมล็ดในน้ำหรือน้ำอุ่น สูงพอท่วมเมล็ด ประมาณ 3-4 ซม. จากนั้นหุ้มด้วยผ้าเปียกหมาดๆ ต่ออีก 1 คืน สังเกตว่าเมล็ดจะมีรากขาวเริ่มงอกออกมาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร แล้วค่อยนำไปเพาะต่อในวัสดุเพาะ แล้วจึงรดด้วยสารละลายป้องกันกำจัดเชื้อราเจือจาง และขนาดของต้นกล้าที่แข็งแรงพอที่จะย้ายนำไปปลูกได้ คือที่มีใบจริงประมาณ 2-3 ใบ
การเตรียมแปลงปลูกและย้ายกล้า
การเตรียมพื้นที่ควรเริ่มต้นด้วยการไถดะในระดับความลึกไม่น้อยกว่า 60 ซม. ซึ่งเป็นความลึกที่อย่างน้อยต้องมีให้รากเมล่อนชอนไซหาอาหารได้สะดวกต่อมาให้ทำการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ในอัตรา 1,500 – 2,000 กก.ต่อไร่ ทำการพรวนดินอีกครั้งเพื่อคลุกเคล้าให้ปุ๋ยคอกผสมกับดินให้ทั่ว ยกแปลงสูง 30 ซม. หรือ 40 ซม. สำหรับฤดูฝน กว้างประมาณ 1 – 1.20 ม. มีความยาวตราความยาวของพื้นที่สำหรับการปลูกแบบแถวคู่ เว้นร่องน้ำกว้าง 0.80 ม. ก่อนปลูกใส่ปุ๋ยรองพื้นด้วยปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 จำนวน 50 กก./ไร่ โดยโรยเฉพาะบนแปลง และพรวนดินเพื่อพลิกให้ปุ๋ยลงสู่ดินล่าง หากต้องการป้องกันวัชพืช ควรคลุมแปลงด้วยพลาสติกคลุมแปลงกลบชายพลาสติกด้วยดินข้างแปลงให้เรียบร้อย เจาะรูบนพลาสติกเป็ฯ 2 แถว ตามความยาวแปลง ระหว่างแถวห่างกัน 80 ซม. และระหว่างหลุมในแถวห่างกัน 0.5 ซม. ในพื้นที่ 1 ไร่ หรือ 1,600 ตร.ม. จะสามารถปลูกได้ 3,200 ต้น สำหรับในพื้นที่ที่หาฟางข้าวได้ง่ายอาจใช้ฟางข้าวคลุมแปลงแทนการใช้พลาสติกเพื่อการประหยัด ยกเว้นในฤดูฝนควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟางคลุมดิน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเน่าที่โคนต้นและระบบรากจากเชื้อราที่ติดมากับฟาง
การดูแลและพัฒนาผล
- การขึ้นค้าง เมล่อนเป็นพืชที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยในการใช้ระยะปลูกชิดแบบปัจจุบันจึงต้องบังคับให้เถาเมล่อนเลื้อยขึ้นด้านบนโดยการจัดค้างให้เถาเมล่อนได้เกาะโดยหลังจากปลูกได้ประมาณ 14 วัน ต้องมีการปักค้างให้กับต้นเมล่อน ไม้ค้างควรมีความสูงจากผิวดินหลังการปักลงดินแล้วไม่น้อยกว่า 1.80 ซม. ในกรณีปลูก 2 แถว อาจผูกไม้ค้าง 2 ฝั่ง เข้าหาเป็นกระโจมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้นก็ได้ และระหว่างไม้ค้างที่ปักในแนวตั้งให้ยึดด้วยไม้ค้างตามแนวนอนทั้งบนและล่างอีกตลอดความยาวของแปลง
- ทำการแต่งกิ่งแขนงโดยตัดปลายยอดทิ้งให้เหลือใบเพียง 2 ใบ เท่านั้น คือใบที่ใกล้กับข้อแรกที่จะเกิดดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศ และใบที่ข้อถัดขึ้นไป ปล่อยให้มีดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เกิดขึ้นเพียงแขนงละ 1 ดอก เท่านั้น และเมื่อต้นเมล่อนเจริญเติบโตจนถึง 25 ข้อ ให้ตัดปลายยอดของต้นออกเสีย เพื่อหยุดการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น นอกจากนี้ให้เด็ดใบล่างสุดออกอีก 3 – 5 ใบ ที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดดออกไป เพื่อทำให้ต้นโปร่งเพิ่มการถ่ายเทของอากาศ ไม่ให้เกิดการสะสมของความชื้นที่ชักนำให้เกิดโรคราต่างๆ
การให้น้ำและปุ๋ยแก่เมล่อน
- การให้น้ำ ปัจจุบันนิยมใช้ระบบการให้น้ำแบบหยดซึ่งเป็นการให้น้ำแก่ต้นแตงที่ในบริเวณรากของต้นแตงแต่ละต้นโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดน้ำกว่า และยังสามารถผสมปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดลงไปในระบบน้ำหยดได้ด้วย แต่ต้องใช้การลงทุนสูงในครั้งแรกแต่สามารถเก็บไว้ใช้ในฤดูกาลปลูกต่อๆไป
- การให้ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยให้แก่เมล่อนที่ถูกวิธีและประหยัดนั้น ก่อนการให้ปุ๋ยแก่ต้นเมล่อนควรมีการตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อหาความอุดมสมบูรณ์ของดินเสียก่อนว่ามีอินทรีย์วัตถุ ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโปแตสเซียม ธาตุแคลเซียม และแมกนีเซียม ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอยู่ในปริมาณเท่าใดก่อน จึงค่อยกำหนดปริมาณปุ๋ยที่จะใส่ให้แก่ดินที่ปลูกนั้นอีกครั้ง เนื่องจากความอุมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
การเก็บเกี่ยว
ในการเก็บเกี่ยวผลเมล่อนเพื่อการจำหน่ายจึงต้องเก็บเกี่ยว ในระยะที่พอดี หากเก็บเร็วเกินไปจะได้ผลเมล่อนที่อ่อนเกินไป รสชาติยังไม่หวานและมีน้ำหนักน้อย หากเก็บเกี่ยวล่าช้าไป ผิวและเนื้อภายในจะอ่อนนุ่มเกินไปไม่เหมาะสำหรับการเก็บรักษาและการจำหน่าย อายุเก็บเกี่ยวของเมล่อนที่เหมาะสมนั้นขึ้นกับพันธุ์ ซึ่งมีทั้งพันธุ์เบา ที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 60 – 65 วัน หลังหยอดเมล็ด หรือ 30 – 35 วัน หลังดอกบาน , พันธุ์ปานกลางมีอายุเก็บเกี่ยว 70 – 75 วัน หลังหยอดเมล็ด หรือ 40 – 45 วัน หลังดอกบาน พันธุ์หนักที่มีอายุเก็บเกี่ยวเกินกว่า 80 – 85 วันหลังเพาะเมล็ดหรือ 50 – 55 วัน หลังดอกบาน
นอกจากการนับจำนวนวันแล้ว การเก็บเกี่ยวเมล่อนยังสามารถดูจากลักษณะภายนอกได้ด้วย เมล่อนที่เริ่มสุกแก่เก็บเกี่ยวได้จะเริ่มมีกลิ่นหอมในพันธุ์ที่มีกลิ่มหอมและมีรอยแยกที่ขั้วผลเกิดขึ้นแสดงว่าผลแตงกำลังจะหลุดร่วงจากต้นโดยทั่วไปมักจะเก็บเกี่ยวเมื่อเกิดรอยแยกประมาณ 50 % หรือครึ่งหนึ่งของรอบขั้วผล ซึ่งเป็นระยะที่ผิวของผลแตงยังไม่อ่อนนุ่มจนเกินไป สามารถเก็บรักษาหรือขนส่งไปจำหน่ายในตลาดได้โดยไม่กระทบกระเทือน และอยู่ตลาดได้อีกระยะหนึ่ง
การเก็บรักษา
การเก็บรักษาเมล่อน เมล่อนเป็นผลไม้สามารถเก็บเกี่ยวในระยะที่ผลพัฒนาเต็มที่แต่ยังไม่ถึงระยะสุกงอมและนำมาบ่นให้สุกก่อนการบริโภคได้เช่นเดียวกับมะม่วง กล้วยและมะละกอ ดังนั้นถ้าหากเก็บเกี่ยวเมล่อนที่แก่แล้วนำมาวางเก็บไว้ในสภาพอุณหภูมิห้อง (ประมาณ 27 – 30 องศาเซลเซียส) ผลเมล่อนจะเกิดการสุกงอม เนื้อผลอ่อนและเน่าเสียในที่สุด ในเวลาอันสั้น หากต้องการเก็บรักษาเมล่อนให้คงสภาพเดิมไว้ให้นานที่สุด
โรคพืชที่สำคัญ
- โรคราน้ำค้าง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิด Pseudoperonospora ชนิดหนึ่งซึ่งระบาดในสภาพอุณหภูมิต่ำและมีความชื้นสูง อาการของโรคเกิดขึ้นบนใบเป็นแผลสีน้ำตาลอ่อน มีเส้นใยของเชื้อราสีขาวหม่นเกิดขึ้นที่ใต้ใบบริเวณที่ตรงกับแผล เมื่ออาการรุนแรง ทำให้ใบแห้ง และเถาตายได้ ในขณะที่กำลังออกดอกติดผล เป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับการปลูกเมล่อนในฤดูฝนของประเทศไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการระบาดของเชื้อโรค
- โรคเหี่ยวจากเชื้อฟูซาเลียม (Fusarium wilt) เกิดจากเชื้อราชนิด Fusarium ที่อยู่ในดิน ทำให้ต้นเมล่อนเกิดอาการใบเหลืองและเหี่ยวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อโรคเข้าทำลายในท่อน้ำท่ออาหาร การรักษาทำได้ค่อนข้างลำบากเพราะเชื้อโรคอยู่ในดิน เมื่อพบว่ามีต้นเป็นโรคนี้ ควรถอนต้นที่เป็นโรคทิ้ง การปรับค่าความเป็นกรด – ด่าง ของดินให้มีค่าสูงขึ้น จะช่วยชลออาการของโรคนี้ได้
- โรคใบด่างจากเชื้อไวรัส ต้นแตงเกิดอาการใบด่างเหลือง หยักเป็นคลื่น ใบเล็กลง ยอดตั้งขึ้น ทำให้แตงชะงักการเจริญเติบโต ไม่ออกดอกและติดผล ถ้าพบว่าเริ่มมีต้นเมล่อนเป็นโรคนี้ ควรรีบถอนต้นนั้นทิ้ง และนำไปเผาทำลาย ในการป้องกันการเกิดโรคนั้นต้องหลีกเลี่ยงการปลูกพืชชนิดอื่นในวงศ์แตงในบริเวณใกล้เคียง และพยายามกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เป็นพาหนะของโรคนี้ คือ แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ และเพลี้ยอ่อน โดยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง เป็นระยะๆ แต่ต้องงดการฉีดก่อนการเก็บเกี่ยว
- โรคราแป้งขาว (Powdery mildew) เกิดจากเชื้อชนิดหนึ่ง ระบาดในสภาพอุณหภูมิและความชื้นสูง อาการเกิดบนใบ และผล ทำให้ใบกรอบเป็นสีน้ำตาล อาจเกิดร่วมกับโรคราน้ำค้าง ป้องกันกำจัดได้ด้วยการฉีดพ่นกำมะถันผง หรือ สารป้องกันกำจัดเชื้อราเบนโนมิล (Benomy)
แมลงศัตรูที่สำคัญ
- เพลี้ยไฟ (Thrips) เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากเท่าปลายเข็ม ตัวอ่อนมีสีแดง ตัวแก่เป็นสีดำ ดูดน้ำเลี้ยงที่ปลายยอดอ่อนของต้น ทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต หดสั้น บิดเบี้ยว ระบาดมาในสภาพอากาศร้อนและแห้งของฤดูร้อน โดยมีลมเป็นพาหนะพาเพลี้ยไฟเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ป้องกันกำจัดได้ด้วยการปลูกพืชที่กันชนที่ต้านทานเพลี้ยไฟ เช่น มะระ ล้อมรอบแปลง และ ฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง แลนแนท
- ด้วงเต่าแตง (Leaf beatle) เป็นแมลงปีกแข้ง ลำตัวยาวประมาณ 1 ซม. ปีกมีสีเหลืองปนส้ม กัดกินใบแตงให้แหว่งเป็นวงๆ ถ้าระบาดและทำความเสียหายให้กับใบจำนวนมาก ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เซฟวิน 85 หรือ ตั้งแต่ก่อนย้ายปลูก ให้หยอดสารเคมีกำจัดแมลงชนิดดูดซึม คือ คาร์โบฟูราน หรือฟูราดาน ที่ก้นหลุม ก่อนย้ายปลูก ซึ่งจะมีฤทธิ์ป้องกันแมลงต่างๆ ได้ประมาณ 45 วัน แต่ไม่ควรใช้สารชนิดนี้อีกในระหว่างการเจริญเติบโตและติดผล เพราะจะตกค้างในผลผลิต เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
- หนอนชอนใบ (Leaf minor) เป็นแมลงตัวเล็กที่ชอนไชอยู่ใต้ผิวใบ กัดกินเนื้อใบเป็นทางยาวคดเคี้ยวไปทั่วทั้งผืนใบ โดยทั่วไปไม่พบว่ามีการระบาดมากในพืชตระกูลแตงเท่าใดนัก แต่ในกรณีที่มีการระบาดมาก และเกิดขึ้นในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะทำให้พื้นที่ใบเสียหายส่งผลให้กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตต่อไปของต้นเมล่อน วิธีการกำจัดต้องใช้สารเคมีชนิดดูดซึมเท่านั้นจึงจะได้ผล เช่น อะบาเมคติน เป็นต้น แต่ไม่ควรฉีดในระยะก่อนเก็บเกี่ยว
- แมลงวันผลไม้ (Melon fruit fly) เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ผลไม้มากที่สุดชนิดหนึ่ง ตัวเมียจะวางไข่ในผลไม้ใกล้สุก ทำให้เกิดตัวหนอนชอนไชอยู่ในผล ทำให้เกิดแผล เน่าเสียราคา วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคือการห่อผลก่อนที่ผลไม้จะสุกแก่
More Stories
วิธีดูแลสนามหญ้าให้สวยงามอยู่เสมอ
ต้นกระบองเพชร
10 ต้นไม้ปลูกในบ้าน